การจัดฟันแบบติดแน่น (Metal braces)
เป็นการใช้เครื่องมือจัดฟันชนิดโลหะ ติดลงบนด้านหน้าของตัวฟัน ร่วมกับลวดจัดฟัน และยางรัดฟัน เพื่อจัดตำแหน่งของฟันให้กลับมาเรียงตัวให้สวยงาม เพิ่มความมั่นใจในการยิ้มแก่คนไข้ พร้อมทั้งแก้ปัญหาเรื่องความผิดปกติในการเรียงตัวของฟัน เช่น ฟันห่าง ฟันซ้อน ฟันยื่น และช่วยในการปรับรูปหน้าและรอยยิ้มของคนไข้ ใหสวยงามมากยิ่งขึ้น
การันตีโดย Net Idol รีวิวใช้บริการเราจริง!!
การจัดฟันด้วยเครื่องมือติดแน่นแบบโลหะนั้น เป็นการจัดฟันที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน และคนไข้ส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการจัดฟันแบบนี้ โดยเฉพาะคนไข้เด็ก และ วัยรุ่น เพราะการจัดฟันแบบนี้สามารถที่จะเลือกยางสีต่างๆ รัดบนตัวฟัน ทำให้รู้สึกสนุกและสวยงามในระหว่างจัดฟัน โดยสียางนี้จะสามารถเปลี่ยนได้ใหม่ทุกครั้งที่ไปพบทันตแพทย์
การจัดฟันด้วยเครื่องมือแบบติดแน่นยังแบ่งเป็นประเภทต่างๆได้อีกดังนี้
1.แบบโลหะติดแน่น (metal braces)
จะมีลักษณะเป็นโลหะติดแน่นบนฟัน มีลวดใส่อยู่ด้านบนเครื่องมือจัดฟัน โดยมียางที่เป็นสีรัดลวดจัดฟันให้ติดบนเครื่องมือจัดฟัน เป็นเครื่องมือที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ นิยมเลือกใช้ เพราะสามารถเลือกสียางเปลี่ยนได้ทุกเดือน
ข้อดี
- เป็นเครื่องมือที่สามารถจัดฟันที่มีปัญหาได้ทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็น ฟันยื่น ฟันซ้อน ฟันห่าง ฟันเก รวมถึงการจัดฟันที่ต้องการการปรับปรุงรูปหน้าให้ดีขึ้น
- ราคาในการรักษาไม่แพง
- มีสียางให้เลือกเปลี่ยนได้ทุกเดือน
- การชำระค่าใช้จ่ายในการรักษา สามารถผ่อนจ่ายเป็นรายเดือนได้
ข้อเสีย
- เวลายิ้มจะเห็นวัสดุจัดฟัน ที่เป็นโลหะและยางที่เป็นสีๆ ซึ่งหากคนไข้ต้องการจัดฟันก็จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นวัสดุจัดฟันเวลาพูดหรือยิ้ม ในกรณีที่คนไข้ ไม่ต้องการให้เห็นวัสดุจัดฟันระหว่างจัดฟัน อาจจะต้องใช้วิธีการจัดฟันแบบใส แทนซึงจะมีค่ารักษาที่แพงกว่า
- ต้องระวังเรื่องการกินอาหารที่แข็งหรือเหนียวมากๆ จะทำให้เครื่องมือหลุดได้
- ต้องดูแลทำความสะอาดเครื่องมือและช่องปากให้ดี เพราะหากทำความสะอาดไม่ดี จะทำให้มีกลิ่นปาก ฟันผุ หรือเหงือกอักเสบระหว่างจัดฟันได้
- มักพบปัญหาเครื่องมือ หลุด หรือ ลวดทิ่ม ทำให้เกิดบาดแผลในช่องปากได้
- ใช้ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน โดยเฉลี่ยประมาณ 2 ปี หรือ หากต้องมีการถอนฟันหลายซี่อาจจะใช้เวลามากกว่า 2 ปีขึ้นไป
2. แบบสีขาวใส (Ceramic braces)
เครื่องมือจะมีลักษณะเหมือนแบบโลหะ แต่ว่าวัสดุที่นำมาทำจะใช้เป็น ceramic ทำให้มองไม่เห็นเครื่องมือแบบเดิมที่เป็นโลหะ ทำให้มีความสวยงามมากขึ้น แต่ว่ายังคงเห็นลวดที่เป็นโลหะอยู่บนตัวฟันอยู่
ข้อดี
- เป็นเครื่องมือที่สามารถจัดฟันที่มีปัญหาได้ทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็น ฟันยื่น ฟันซ้อน ฟันห่าง ฟันเก รวมถึงการจัดฟันที่ต้องการการปรับปรุงรูปหน้าให้ดีขึ้น
- วัสดุมีความสวยงามกว่าแบบโลหะ
- ค่าใช้จ่ายถูกกว่าการจัดฟันแบบใส
ข้อเสีย
- แม้วัสดุจะมีสีขาวใส แต่ก็ยังคงเห็นลวดที่อยู่บนฟันได้อยู่
- ต้องระวังเรื่องการกินอาหารที่แข็งหรือเหนียวมากๆ จะทำให้เครื่องมือหลุดได้
- เครื่องมือสามารถหลุด หรือแตกหักได้ง่ายกว่า แบบโลหะ
- ค่าใช้จ่ายสูงกว่าแบบโลหะ
- ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน ประมาณ 2 ปี
3. การจัดฟันแบบ Damon
เป็นเครื่องมือจัดฟันที่ไม่มีการใส่ยางสีๆ รัดบนตัวฟัน ทำให้ฟันเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าการจัดฟันแบบปกติ และความเจ็บปวดที่เกิดจากการจัดฟันจะน้อยกว่าแบบโลหะ
ข้อดี
- ฟันเคลื่อนตัวได้เร็วกว่าการจัดฟันแบบปกติ
- ความเจ็บปวดที่เกิดจากการจัดฟันน้อยกว่าแบบปกติ
- ใช้ระยะเวลาในการรักษาน้อยกว่าการจัดฟันแบบปกติ
- สามารถจัดฟันให้เรียงตัวสวยได้โดยที่ไม่ต้องถอนฟันเหมือนเครื่องมือจัดฟันแบบปกติ
- ไม่จำเป็นต้องมาพบหมอบ่อยเหมือนเครื่องมือปกติ
ข้อเสีย
- ราคาจะสูงกว่าการรักษาแบบปกติ
- หากอุปกรณ์หลุดหรือเสียหายจะมีค่าใช้จ่ายแพงกว่าปกติ
- ต้องรักษาความสะอาดในช่องปากและเครื่องมือให้สะอาดสม่ำเสมอ เพราะหากหินปูนขึ้นที่ฟันหรือเครื่องมือ จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือลดลง และการรักษาจะไม่เป็นไปตามที่กำหนด
ขั้นตอนในการจัดฟัน
1. คนไข้ต้องทราบสาเหตุที่ต้องการจัดฟันคืออะไร เช่น ฟันยื่น ฟันเก ฟันห่าง ฟันล่างค่อมฟันบน ต้องการปรับรูปหน้า หากเราต้องการแก้ไขสิ่งไหนควรแจ้งให้หมอทราบ เพื่อที่หมอจะได้วางแผนการรักษาให้ถูกต้องตามความต้องการของคนไข้ หากฟันไม่มีปัญหาอะไร ต้องการติดเหล็กเฉยๆ ไม่แนะนำให้จัดฟัน เพราะจะส่งผลเสียมากกว่า เช่นพวกที่ไปทำจัดฟันแฟชั่น จะทำให้ฟันที่ดีอยู่แล้วมีปัญหาได้
2. การวางแผนการรักษา หลังจากที่แจ้งสาเหตุที่ต้องการจัดฟันให้หมอทราบแล้ว ขั้นแรก หมอจะทำการวางแผนการรักษาให้กับคนไข้โดยเริ่มจากการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของคนไข้โดยละเอียดดังนี้
- พิมพ์ฟันเพื่อนำมาทำ แบบจำลองการสบฟันของคนไข้
- x ray ดูตำแหน่งฟัน ขากรรไกรของคนไข้ และ ตรวจดูว่าฟันผุหรือไม่
- ถ่ายรูป ในช่องปาก และ นอกช่องปาก
เมื่อได้ข้อมูลครบแล้วหมอจะไปวางแผนการรักษามาให้คนไข้ ว่าจะเป็นเคสถอนฟัน หรือ ไม่ต้อง ถอนฟัน แจ้งระยะเวลาในการรักษา และค่าใช้จ่ายในการรักษา
3. เตรียมสภาพช่องปากให้พร้อมติดเครื่องมือจัดฟัน ( clear ช่องปาก ) ขูดหินปูน อุดฟัน รักษาโรคเหงือก รักษารากฟัน ทำครอบฟัน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด ขึ้นกับสภาพช่องปากของคนไข้
4. ทำการติดเครื่องมือจัดฟัน ใส่ลวด ใส่ยาง
5. แนะนำข้อปฎิบัติตัวหลังจากติดเครื่องมือ ดังนี้
- วิธีการทำความสะอาดฟัน แปรงสำหรับจัดฟัน วิธีแปรงฟันสำหรับจัดฟัน ไหมขัดฟัน แปรงซอกฟัน
- การทานอาหาร ระวังของแข็ง ระวังเหล็กหลุด
- อาจมีอาการเจ็บบ้างหลังปรับเครื่องมือ ทานยาแก้ปวดได้
- มาพบหมอเป็นประจำเดือนละ 1 ครั้ง
วิธีการดูแลตนเองของผู้ป่วยหลังใส่เครื่องมือจัดฟัน
- ควรแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร เนื่องจากในระหว่างที่ทานอาหารนั้นจะมีเศษอาหารๆติดอยู่ตามซอกฟันและซอกเหล็กจัดฟัน ซึ่งบางครั้งการบ้วนด้วยน้ำเปล่าเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ และควรแปรงฟันทุกเช้าและก่อนเข้านอน ด้วยทุกครั้ง
- ใช้ไหมขัดฟันขัดฟันหลังทานอาหารทุกครั้ง หรือถ้าหากไม่สะดวกก็ใช้วันละครั้งก็ได้ ใช้หลังแปรงฟันก่อนนอน เพื่อกำจัดเศษอาหารที่ติดอยู่ตามซอกฟัน และซอกเหล็ก
- การใช้ยาสีฟัน ควรเลือกใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ และน้ำยาบ้วนปากก็ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์อย่างน้อยวันละครั้งเพื่อป้องกันการเกิดฟันผุ
- ใช้แปรงสีฟันที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับคนจัดฟัน เพราะจะสามารถทำความสะอาดได้ง่ายกว่า และทำความสะอาดสะอาดได้ดีกว่าการใช้แปรงสีฟันแบบธรรมดาทั่วไป ซึ่งควรแปรงทั้งด้านบน และล่าง ของเหล็กจัดฟัน
- หลังจากติดตั้งเครื่องมือจัดฟันไปแล้ว ควรขูดหินปูนทุก 6 เดือน เพื่อป้องกันโรคเหงือกอักเสบ และตรวจเชคฟันผุ
- หากมีอาการปวดฟัน หรือเสียวฟันมาก ให้ทานยาแก้ปวดได้เช่น พาราเซตามอน
- ในช่วงระยะจัดฟันแรกๆ เหล็กอาจจะหลุดได้ง่าย แนะนำให้คนไข้ให้ทานอาหารอ่อนๆ หลีกเลี่ยงอาหารเหนียว และแข็ง หากจำเป็นต้องทานแนะนำควรตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนทาน ไม่ควรให้อาหารแข็งกระแทกโดนเหล็กโดยตรง
- การใส่รีเทนเนอร์ในช่วงแรกอาจจะทำให้พูดไม่ชัด หากใส่แล้วเจ็บหรือเป็นแผลร้อนในในปาก แนะนำให้กลับมาตรวจเช็คกับทันตแพทย์หลังจากใส่ไปเป็นระยะ 1 อาทิตย์ 1 เดือน และ 6 เดือน ร่วมกับการขูดหินปูนทำความสะอาดและตรวจเชคฟันผุ
วิธีการดูแลตนเองของผู้ป่วยหลังถอดเครื่องมือจัดฟัน
- เมื่อถอดเครื่องมือจัดฟันแล้ว ต้องใส่รีเทนเนอร์ตลอดเวลา ถอดออกได้เฉพาะตอนรับประทานอาหาร และ แปรงฟันเท่านั้น (ไม่ควรใส่รีเทนเนอร์ขณะทานอาหาร)
- ควรใส่รีเทนเนอร์อย่างน้อย 2 ปี หลังจากนั้นหากต้องการลดเวลาใส่ลง ให้ถอดตอนกลางวัน แต่ยัฃควรใส่ตอนนอนทุกวัน
- ในการใส่รีเทนเนอร์ในช่วงแรกอาจทำให้พูดไม่ชัด หรือ รู้สึกน้ำลายไหลมากกว่าปกติ ในช่วงแรก ซึ่งถือว่สปกติคนไข้จะเริ่มรู้สึกคุ้นเคยและพูดชัดขึ้น ภายใน 1 เดือน
- การทำความสะอาดรีเทนเนอร์แบบลวด ให้ใช้แปรงขนนุ่มกับสบู่เหลว แปรงวันละ 2 ครั้ง ไม่แนะนำให้ใช้ยาสีฟันเพราะในยาสีฟันมีผงขัดซึ่งจะมีผลกับพื้นผิวของรีเทนเนอร์ แนะนำให้ใช้เม็ดฟู่ทำความสะอาดรีเทนเนอร์ โดยแช่ทิ้งไว้ประมาน 3 นาที แล้วแปรงต่อด้วยน้ำสบู่ อาทิตย์ละประมาน 2-3 ครั้ง
- การทำความรีเทนเนอร์แบบใส สามารถใช้แปรงขนนุ่มทำความสะอาดได้เหมือนกัน แต่ต้องระวังเพราะสามารถแตกหักได้ง่าย แนะนำให้ใช้ cotton bud ขนาดเล็กเช็ดทำความสะอาดภายใน และใช้ร่วมกับเม็ดฟู่ อย่างน้อย อาทิตย์ละ 2 ครั้ง
การดูแลตนเองหลังใส่หมุดดึงฟัน (mini screw)
- ในช่วง 1-3 วันแรก คนไข้อาจรู้สึกเจ็บเล็กน้อยบริเวณที่ใส่หมุดดึงฟัน ซึ่งสามารถทานยาแก้ปวด paracetamol หรือ ibuprofen เพื่อทำให้รู้สึกสบายขึ้นได้
- ควรทำความสะอาดบริเวณหมุดดึงฟันด้วยการแปรงเบาๆรอบ เพื่อเอาคราบอาหารออก เพื่อไม่ให้เหงือกอักเสบ
- หากเหงือกอักเสบหรือ ทำความสะอาดไม่ดีอาจทำให้ หมุดดึงฟันหลวมและเจ็บเหงือกบริเวณที่ใส่หมุดดึงฟันได้
- ไม่ควรไปจับหรือโยกหมุดดึงฟัน และระวังไม่ให้อาหารแข็งๆ หรือ ช้อนไปกระแทกโดนหมุดดึงฟัน
ขั้นตอนการทำความสะอาด
สำหรับคนไข้จัดฟัน
เดนทัลมี คลินิก
สรุป
การจัดฟันเป็นการรักษาทางทันตกรรมเพื่อแก้ไขความสวยงามของรอยยิ้ม ปรับรูปหน้า แก้ไขปัญหาการเรียงตัวของฟัน แก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปาก รวมถึงช่วยปรับปรุงบุคลิกภาพของคนไข้ให้ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีคลินิกให้บริการเพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมถึงค่ารักษาที่ราคาถูกลง ทำให้คนไข้สามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อน การศึกษาข้อมูลเบื้องต้นก่อนทำการจัดฟันจึงมีความสำคัญ
ซึ่งบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลการจัดฟันที่มีในปัจจุบัน การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์ รวมถึงการดูแลตนเองหลังจากติดเครื่องมือจัดฟัน และหลังจากถอดเครื่องมือจัดฟันไว้อย่างครบถ้วน เพื่อเป็นประโยชน์กับคนไข้ทุกคน
ที่เดนทัลมี เรามีบริการทันตกรรมแก้ไขได้ทุกปัญหา ท่านสามารถดูบริการอื่นๆ ได้อีกมากมายกดตามหัวข้อหรือภาพได้เลย